บทความ

การเลี้ยงและการดูแลหมูในระยะต่างๆ

      การเลี้ยงหมูจะประสบความสำเร็จถ้าเอาใจใส่เรื่องการเลี้ยงและการดูแลหมูอย่างถูกต้อง แม้ผู้เลี้ยงจะมีหมูพันธุ์ดีก็ตามแต่ถ้าละเลยในสิ่งเหล่านี้แล้วปัญหาต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ เช่น พ่อหมูผสมไม่เก่งผสมติดน้อย แม่หมูคลอดลูกยากลูกหมูป่วยเป็นโรคท้องเสียและมีอัตราการตายสูง เป็นต้น

การเลี้ยงและการดูแลหมูพ่อพันธุ์ 

      หมูตัวผู้ที่จะนำมาใช้ผสมพันธุ์ได้ดีควรมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์มีขนาดและอายุที่พอเหมาะเพื่อให้สามารถผลิตน้ำเชื้อที่มีคุณภาพดีพอเพียง  มีผลทำให้การผสมติดสูงและได้จำนวนลูกมากเป็นปกติแม้ว่าหมูตัวผู้สามารถผลิตอสุจิได้บ้างแล้วเมื่อมีอายุย่างเข้า ๔ เดือนก็ตามแต่จำนวนน้ำเชื้อและอสุจิที่ผลิตได้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อหมูมีอายุมากขึ้น  ดังนั้นหมูตัวผู้ที่จะนำมาใช้ผสมพันธุ์ควรมีขนาดใหญ่พอเหมาะที่จะผสมกับแม่หมูที่มีขนาดปกติได้  โดยปกติมักใช้ผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว ๘ เดือนและมีน้ำหนักประมาณ ๘๐-๙๐ กิโลกรัม สำหรับหมูพ่อพันธุ์ต่างประเทศควรมีน้ำหนักราว ๑๑๕ กิโลกรัม
      การเลี้ยงหมูพ่อพันธุ์ปกติให้อาหารวันละมื้อ พ่อพันธุ์ที่มีน้ำหนักมากเกินไปหรืออ้วนควรให้ออกกำลังบ้างหรือลดอาหารและให้อาหารหยาบมากขึ้น หมูพ่อพันธุ์ถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากผู้เลี้ยงจะสามารถใช้งานได้หลายปีโดยไม่มีข้อบกพร่องแม้จะใช้ผสมพันธุ์วันละสองครั้งก็ตาม แต่ก็ไม่ควรใช้งานมากเกินไปเพราะการผสมบ่อย ๆ หรือติด ๆ กันจะทำให้จำนวนอสุจิลดน้อยลงและอาจมีอสุจิตัวอ่อนที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ดังนั้นหลังจากฤดูผสมพันธุ์ควรจะให้ตัวผู้ได้พักผ่อนและออกกำลังกายโดยปล่อยในทุ่งหญ้า

 

ข้อแนะนำระหว่างการผสมพันธุ์หมู คือ ควรให้อาหารแม่หมูและหมูสาวให้มากขึ้นเนื่องด้วยเหตุผลสองประการ คือ 
ประการแรก 
      เนื่องจากแม่หมูผสมพันธุ์ครั้งใหม่หลังการหย่านมในช่วงเวลาสั้นหมูยังอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ 
ประการที่สอง 
      เนื่องจากระหว่างการให้นมแม่หมูส่วนใหญ่สูญเสียน้ำหนักไปมาก การให้อาหารเพิ่มขึ้นจะช่วยให้แม่หมูอยู่ในสภาพที่เหมาะสำหรับการให้นมครั้งต่อไป


การผสมพันธุ์ของหมู

การเลี้ยงและการดูแลแม่หมูระหว่างการอุ้มท้อง 

      หมูตัวเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์หรือผสมไม่ได้ผลจะกลับเป็นสัดอีกระหว่างทุก ๆ ๑๘-๒๔ วันหรือโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๑ วัน แต่ถ้าผสมได้ผลก็จะไม่กลับเป็นสัดอีกเลยตลอดการอุ้มท้อง  เมื่อหมูตัวเมียได้รับการผสมแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเพิ่มมากขึ้นอีก การเลี้ยงดูในช่วงนี้ควรปฏิบัติ ดังนี้ 

๑. การจัดคอกสำหรับแม่หมู 

      ระยะที่แม่หมูอุ้มท้องควรแยกมาเลี้ยงในคอกขังเดี่ยวเพราะนอกจากจะควบคุมการให้อาหารได้แล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทะเลาะวิวาทกับหมูตัวอื่นซึ่งอาจทำให้แม่หมูแท้งลูกได้


ระยะแม่หมูอุ้มท้องควรแยกเลี้ยงในคอกขังเดี่ยว

๒. การให้อาหาร 

      ๒.๑ ช่วงอุ้มท้องระยะต้น ตั้งแต่เริ่มผสมพันธุ์จนถึงอุ้มท้องได้ ๘๔ วัน ในช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหารมากนักเพราะลูกในท้องเติบโตช้ามากควรให้กินประมาณตัวละ ๑.๕-๑.๘ กิโลกรัมต่อวันก็พอเพียงแล้ว สำหรับหมูพันธุ์พื้นเมืองก็ต้องลดลงตามส่วน 
      ๒.๒ ช่วงอุ้มท้องระยะหลัง (อุ้มท้อง ๘๔-๑๐๔ วัน) ในช่วงนี้ลูกหมูในท้องมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากต้องการอาหารมากจำเป็นต้องเพิ่มอาหารให้แก่แม่หมูเป็นวันละ ๒.๕-๓ กิโลกรัมต่อวัน (ประมาณร้อยละ ๒.๕ ของ น้ำหนักตัว)

๓. ตรวจการตั้งท้อง 

      หลังจากวันผสมพันธุ์ประมาณ ๒๑ วันและ ๔๒ วัน ควรตรวจดูการเป็นสัดของหมูตัวเมีย หากหมูไม่แสดงอาการเป็นสัดก็อาจกล่าวได้ว่าหมูผสมติดและตั้งท้องแต่ถ้าหมูแสดงอาการเป็นสัดอีกก็ให้ผสมพันธุ์หมูตัวนั้นใหม่ หมูตัวใดผสมแล้วยังไม่ตั้งท้องติดต่อกัน ๓ ครั้ง ให้คัดหมูตัวนั้นออกจากฝูงเพื่อจำหน่ายต่อไป

๔. อุณหภูมิ 

      ภายในโรงเรือนควรรักษาอุณหภูมิให้ต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากประเทศเราเป็นประเทศเมืองร้อนและจากผลการวิจัยปรากฏว่าหากให้หมูอยู่ในที่ร้อนอบอ้าวติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้หมูให้ลูกน้อยตัว นอกจากนี้ความต้องการผสมพันธุ์และจำนวนเชื้ออสุจิของพ่อหมูก็ลดลงไปด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับหมูในช่วงนี้ คือ ระหว่าง ๑๖-๑๙ องศาเซลเซียส

การเลี้ยงดูแม่หมูก่อนคลอด ระหว่างคลอด และระหว่างการให้นม 

      ช่วงระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอดและระยะ ๒-๓ วัน ของการให้นมเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากช่วงหนึ่งของการเลี้ยงดูหมู ถ้าการเลี้ยงดูในระหว่างช่วงนี้ไม่ดีพอก็จะสูญเสียลูกหมูไปโดยไม่จำเป็น

การเลี้ยงดูแม่หมูก่อนคลอด

ควรปฏิบัติ ดังนี้ 
       ๑. การทำความสะอาดคอกคลอด ควรทำความสะอาดไว้ล่วงหน้าให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำแม่หมูเข้าคอกคลอดประมาณหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านี้ก็ได้  เพื่อลดโอกาสที่โรคและพยาธิจะเกิดขึ้นให้มีได้น้อยที่สุดซึ่งโรคและพยาธินี้จะติดต่อถึงลูกได้มากเนื่องจากลูกหมูพยายามหาทางไปกินนมจากแม่ภายหลังที่คลอดได้ไม่กี่นาทีลูกหมูจึงอาจติดโรคและพยาธิเหล่านี้ได้จากคอกที่สกปรกการทำความสะอาดคอกคลอดจะใช้ผงซักฟอกหรือโซดาไฟล้างก็ได้แล้วใช้น้ำสะอาดล้างให้ทั่วอีกครั้ง  เมื่อคอกแห้งแล้วจึงใช้ยาฆ่าเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำเจือจางตามคำแนะนำแล้วพ่นให้ทั่วบริเวณคอก

๒. การถ่ายพยาธิแม่หมูก่อนถึงกำหนดคลอด ๗-๑๔ วัน ควรถ่ายพยาธิแม่หมูโดยเฉพาะหมูที่เลี้ยงแบบปล่อยลงแปลงหรือเลี้ยงในคอกที่มีพื้นเป็นดิน  วิธีการใช้ยาถ่ายพยาธิให้ดูจากฉลากที่ติดมากับยาชนิดนั้น ๆ
๓. การทำความสะอาดแม่หมู ปกติทั้งแม่หมูและหมูสาวจะอุ้มท้องนานประมาณ ๑๑๔ วัน เมื่ออุ้มท้องได้ ๑๐๙ วัน ควรย้ายหมูเหล่านั้นไปยังคอกคลอดอาบน้ำด้วยสบู่ใช้แปรงที่มีขนแข็งถูให้ทั่วบริเวณร่างกาย โดยเฉพาะตามพื้นท้อง ลำตัว และบริเวณเต้านม วิธีนี้จะกำจัดไข่พยาธิและสิ่งสกปรกที่ติดมากับตัวหมูออกไป 
 ๔. การให้อาหารและน้ำแม่หมู อาหารที่ให้แม่หมูในช่วงก่อนคลอดนี้ควรจะเป็นอาหารช่วยระบายอย่างอ่อน ๆ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการท้องผูกของแม่หมู  ช่วงนี้ผู้เลี้ยงอาจเพิ่มอาหารที่มีเยื่อใยสูงลงในอาหารแม่หมูได้ รำข้าวหรือจะให้หญ้าสด เช่น หญ้าขนก็ได้

การดูแลแม่หมูระหว่างคลอด

ควรปฏิบัติดังนี้ 
      ๑. การจัดเตรียมวัดสุรองพื้นสำหรับลูกหมู ควรจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า ก่อนแม่หมูจะคลอดหนึ่งวัน หรือสองวัน วัดสุที่รองพื้นที่ควรจัดเตรียมไว้ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือกระสอบที่สะอาดและแห้ง วัสดุรองพื้นช่วยป้องกันขาและเต้านมของลูกหมู ที่เพิ่งคลอด ไม่ให้ได้รับอันตรายจากพื้นคอกที่หยาบ แข็ง และยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่ลูกหมูอีกด้วย 
๒. การจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฐมพยาบาลลูกหมูที่คลอดออกมา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมไว้ระหว่างหมูกำลังคลอด มีดังนี้

          ๒.๑ ผ้าแห้งที่สะอาด ๒-๓ ผืน สำหรับเช็ดตัวลูกหมูที่คลอดออกมาใหม่ ๆ 
          ๒.๒ คีม สำหรับตัดเขี้ยวและหางลูกหมู 
          ๒.๓ ด้ายผูกสายสะดือ 
      ๓. การให้อาหารแม่หมู ถ้าเป็นไปได้ช่วงก่อนคลอด ๑๒ ชั่วโมง และหลังคลอดอีก ๑๒ ชั่วโมง ไม่ต้องให้อาหารเลยนอกจากน้ำสะอาดอย่างเดียว 
      ๔. การช่วยเหลือลูกหมูเมื่อคลอดลูกหมูเมื่อคลอดออกมาใหม่ ๆ ควรจะช่วยทำความสะอาดเช็ดร่างกายลูกหมูให้แห้งด้วยผ้าแห้งที่สะอาดเอาเยื่อบาง ๆ ที่ห่อหุ้มตัวลูกหมูออก  โดยเฉพาะเยื่อที่หุ้มส่วนจมูกและปากควรเช็ดและล้วงเสมหะออกจากปากเสียก่อนโดยเร็ว หลังคลอดไม่ควรขังลูกหมูไว้ควรปล่อยให้กินนมได้เลยน้ำนมแม่เมื่อแรกคลอด (colostrum) นี้มีประโยชน์ต่อลูกหมูมากและจะมีอยู่เพียง ๒-๓ วันหลังคลอดเท่านั้น

การเลี้ยงดูแม่หมูระหว่างการให้นม

ควร ปฏิบัติดังนี้ 
      ๑. ควรให้อาหารเดิมแก่แม่หมู (อาหารที่ให้แม่หมูตอนใกล้คลอด) ภายหลังคลอดต่อไปอีก ประมาณ ๓ - ๕ วัน จึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารสูตรใหม่ 
     ๒. อาหารสูตรใหม่ที่ให้แก่แม่หมูระหว่างการให้น้ำนมควรมีโปรตีนและพลังงานไม่น้อยกว่าในอาหารสำหรับแม่หมูระหว่างการอุ้มท้องทั้งนี้เพื่อช่วยในการผลิตน้ำนม 
     ๓. การให้อาหารควรเริ่มให้แต่น้อย วันถัดไปค่อยเพิ่มจำนวนอาหารที่ให้กินมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่าที่แม่หมูจะสามารถกินได้ เช่น แม่หมูมีลูก ๑๐ ตัว อาหารที่ให้แม่หมูกินเต็มที่ประมาณ ๕ กิโลกรัม 
     ๔. การเพิ่มอาหารให้แม่หมูกินเร็วเกินไปอาจทำให้ลูกหมูเกิดขี้ขาวได้ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ผู้เลี้ยงควรลดจำนวนอาหารที่ให้หมูลง

การเลี้ยงและการดูแลลูกหมูหลังคลอดไปจนถึงหย่านม 

      การเลี้ยงและการดูแลลูกหมูตั้งแต่หลังคลอดไปจนถึงหย่านมนับได้ว่าเป็นช่วงที่มีความยุ่งยากมากกว่าช่วงอื่น ๆ เป็นช่วงที่มีการสูญเสียลูกหมูมากที่สุด โดยเฉลี่ยประมาณ ๒ ตัวต่อครอกซึ่งอาจเกิดเนื่องจากถูกแม่ทับตาย ท้องร่วงอย่างแรง อดอาหาร โลหิตจาง และเสียเลือดมากทางสายสะดือเมื่อคลอด อย่างไรก็ตามการสูญเสียลูกหมูในช่วงนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการดูแลไม่ดีมากกว่าสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียลูกหมูในช่วงนี้ผู้เลี้ยงควรเตรียมการดูแลลูกหมู ดังนี้ 
๑. การให้ความอบอุ่น 
      หมูที่มีอายุต่ำกว่า ๓ วัน กลไกที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายยังไม่ทำงานจึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความผันแปรของอุณหภูมิภายนอกได้  ลูกหมูแรกเกิดที่ถูกความหนาวเย็นมาก ๆ หรือเป็นเวลานาน ๆ อุณหภูมิของร่างกายจะลดลงจะเป็นผลให้ลูกหมูตัวนั้นตายได้

๒. การป้องกันลมโกรก 
      ไม่ควรปล่อยให้ลูกหมูถูกลมโกรก เช่น ให้ลูกหมูอยู่ในคอกที่โปร่งมากหรือมีพื้นเป็นไม้ระแนงเพราะจะทำให้ลูกหมูเจ็บป่วยได้ง่าย  บริเวณสำหรับลูกหมูแรกคลอดหลับนอนควรมีที่กำบังลมไว้ประมาณ ๓-๔ วัน จะช่วยให้ลูกหมูไม่ถูกลมโกรกมากนัก อย่างไรก็ตามคอกลูกหมูก็ไม่ควรปิดทึบเพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเวลาคอกเปียกชื้นจะแห้งยากทำให้เกิดเชื้อโรคลูกหมูจะเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน 
๓. การรักษาความสะอาดคอก
      คอกที่ใช้เลี้ยงลูกหมูควรทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ พื้นคอกตลอดจนบริเวณที่ลูกหมูนอนควรจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอถ้าจำเป็นที่จะต้องล้างทำความสะอาดเนื่องจากคอกสกปรกควรขังลูกหมูเอาไว้ก่อนอย่าปล่อยออกมาให้ตัวเปียกน้ำลูกหมูอาจจะหนาวสั่นและเจ็บป่วยได้ เมื่อเห็นว่าคอกแห้งพอสมควรดีแล้วจึงปล่อยลูกหมูตามเดิม 
๔. การตัดสายสะดือ 
      ก่อนอื่นควรมัดสายสะดือเพื่อป้องกันเลือดออกหลังตัด ควรตัดให้เหลือสายสะดือยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร เมื่อลูกหมูยืนขึ้นสายสะดือจะได้ไม่ติดพื้นคอกจากนั้นเช็ดแผลที่ตัดแล้วด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน สายสะดือเป็นส่วนสำคัญที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัวลูกหมูได้ การเจ็บป่วย เช่น ลูกหมูขาเจ็บหรือตายอาจจะมาจากการละเลยการปฏิบัติดังกล่าว

 

๕. การตัดฟันและการตัดหาง 

ควรตัดภายหลังที่ลูกหมูคลอดได้ไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง การตัดฟันและหางนี้ควรทำพร้อมกันทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องลูกหมูหลาย ๆ ครั้ง 

  • การตัดฟันลูกหมูแรกคลอดมีฟันที่แหลมคมอยู่ ๔ คู่ ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรบน อีก ๒ คู่อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ฟัน ๔ คู่นี้ไม่มีประโยชนต่อลูกหมู แต่จะทำให้ระคายเคืองต่อเต้านมแม่ขณะที่ลูกหมูดูดนม จึงควรตัดให้เรียบสั้นหลังคลอด  การตัดต้องระมัดระวังอย่าให้ฐานของฟันเสียหรือเหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้หรือเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อเหงือก (การตัดฟันลูกหมู โดยไม่ระมัดระวังก็จะทำให้เหงือกได้รับอันตรายจากเครื่องมือที่ใช้ได้ เช่น ไปตัดโดนเหงือก เครื่องมือที่ใช้ตัดฟันถ้าไม่คมก็จะตัดฟันได้ไม่เรียบ ฐานฟันอาจเสียและทำให้เหงือกได้รับอันตรายบางครั้งก็เหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้เหมือนขวดแก้วแตก ฟันเช่นนี้เมื่อไปกัดหัวนมแม่จะคมยิ่งกว่าฟันธรรมดาที่ไม่ได้ถูกตัด)
  • การตัดหางปัญหาเรื่องลูกหมูกัดหางกันมักจะเนื่องมาจากการเลี้ยงหมูแบบขังคอกและเลี้ยงไว้คอกละจำนวนมาก  ผู้เลี้ยงอาจจะตัดหางลูกหมูทิ้งเสียตั้งแต่ยังเล็กก็ได้ ควรตัดให้เหลือเพียง ๑/๔ นิ้ว ไม่ควรทำกับหมูที่โตแล้วในกรณีที่เกิดปัญหาการกัดหางกันก็สามารถแก้ไขได้โดยการผูกโซ่หรือยางห้อยไว้ในคอกเพื่อให้หมูได้กัดเล่น 

๖. การป้องกันโรคโลหิตจาง 
      โรคโลหิตจางในลูกหมูมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ทั้งนี้เพราะลูกหมูมีความต้องการธาตุเหล็กมากเกินกว่าที่ได้รับจากน้ำนมแม่เนื่องจากลูกหมูมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและธาตุเหล็กที่เก็บสำรองในตัวลูกหมูที่เกิดใหม่มีอยู่จำนวนน้อยเพื่อป้องกันโรคนี้ผู้เลี้ยงควรฉีดธาตุเหล็กให้ลูกหมูประมาณ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อลูกหมูอายุได้ ๓ วัน ครั้งถัดไปเมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๒-๓ สัปดาห์ 

 

๗. การตอนลูกหมูตัวผู้ 
      ลูกหมูตัวผู้ที่ไม่เก็บไว้ทำพันธุ์จะตอนเมื่ออายุเท่าใดก็ได้แต่ที่เหมาะ คือ เมื่ออายุได้ ๒ หรือ ๓ สัปดาห์ ในช่วงนี้อันตรายจากการตอนมีน้อยกว่าช่วงที่ลูกหมูโตแล้วเพราะจับลูกหมูได้ง่ายกว่าและแผลก็จะหายเร็วกว่าด้วย
๘. การหัดให้กินอาหารแห้ง 
      ก่อนลูกหมูหย่านมอย่างสมบูรณ์เมื่อลูกหมูมีอายุได้ ๑ หรือ ๒ สัปดาห์ ควรหัดให้กินอาหารบ้างลูกหมูที่เคยหัดให้กินอาหารตั้งแต่เล็ก โดยทั่วไปเมื่อหย่านมจะเรียนรู้การกินอาหารได้เร็วกว่าพวกที่ไม่เคยหัดเลย

 

การเลี้ยงดูลูกหมูหลังหย่านม 

 

      การหย่านมลูกหมูจะเร็วหรือช้านั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของลูกหมูแล้วยังขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เลี้ยงและคุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกหมูด้วย  ผู้เลี้ยงหมูในบ้านเรานิยมหย่านมลูกหมูที่มีอายุระหว่าง ๓-๖ สัปดาห์ ลูกหมูที่หย่านมเมื่ออายุยังน้อยหรือน้ำหนักตัวน้อยมักจะอ่อนแอและถ้าการเลี้ยงดูไม่ดีพออาจทำให้ลูกหมูแคระแกร็นหรืออาจถึงตายได้  การเลี้ยงดูลูกหมูในระยะนี้จึงควรปฏิบัติดังนี้
๑. การหย่านมลูกหมู 
      ให้ถือน้ำหนักเป็นเกณฑ์ ลูกหมูควรมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๕ กิโลกรัมเมื่อหย่านมและไม่ควรขังลูกหมูที่มีขนาดและน้ำหนักไล่เลี่ยกันเกินกว่า ๒๐ ตัวไว้ในคอกเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับขนาดของคอกด้วย) เนื่องจากคอกจะสกปรกมากและบางตัวก็กินอาหารไม่ทันตัวอื่น ๆ 
๒. การรักษาความสะอาด 
      เนื่องจากลูกหมูในช่วงนี้เป็นโรคได้ง่ายความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรระวังให้มาก รางอาหาร รางน้ำ ตลอดจนคอกหมูต้องสะอาดอยู่เสมอ พื้นคอกไม่ควรปล่อยให้เปียกแฉะ ดังนั้นคอกต้องมีการถ่ายเทอากาศได้ดีแต่ต้องไม่โกรกตัวลูกหมูมากนัก 
๓. การให้อาหารและน้ำ 
      ควรให้อาหารลูกหมูบ่อย ๆ ครั้งละน้อย ๆ จะช่วยให้ลูกหมูกินอาหารได้มากขึ้น อาหารที่เปียกเหม็นอับควรทิ้งไป น้ำสะอาดต้องมีให้ลูกหมูได้กินตลอดเวลา การขาดน้ำจะทำให้ลูกหมูกินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหารเลย 
๔. การถ่ายพยาธิ 
      หลังจากลูกหมูหย่านมได้ราว ๒-๓ สัปดาห์ ควรให้ลูกหมูกินยาถ่ายพยาธิ ลูกหมูที่พบว่ามีพยาธิควรถ่ายซ้ำอีกครั้ง
๕. การฉีดวัคซีน 
      หลังจากที่ลูกหมูหย่านมแล้ว ราว ๓-๔ สัปดาห์ขึ้นไป ผู้เลี้ยงสามารถฉีดวัคซีนให้กับลูกหมูได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของลูกหมูและควรฉีดวัคซีนกับลูกหมูที่สมบูรณ์เท่านั้นลูกหมูหลังฉีดวัคซีนแล้วอาจมีอาการไข้ได้จึงไม่ควรเอาน้ำรดตัวลูกหมู  การตอนไม่ควรทำในช่วงเดียวกับการฉีดวัคซีนควรตอนก่อนการฉีดวัคซีนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๑๐ วัน หรือหลังการฉีดวัคซีนประมาณสัก ๑ เดือน

ที่มาบทความ : https://www.trueplookpanya.com

Visitors: 185,347