สูตรอาหารหมู ต้นทุนต่ำ โตเร็ว!

สูตรอาหารหมู ต้นทุนต่ำ โตเร็ว!


อาหารสัตว์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของสัตว์ อาหารของสัตว์อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากการแปรรูปพืชและสัตว์ ในยามนี้ หากใครเลี้ยงสัตว์เชิงการค้า โดยอาศัยอาหารสัตว์ที่มีขายในท้องตลาดเป็นหลัก อาจมีภาระต้นทุนการผลิตสูง เพราะอาหารสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาแพง สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู หากใครสนใจอยากลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ขอแนะนำสูตรอาหารสัตว์จากภูมิปัญญาชาวบ้านและงานวิจัย จำนวน 3 สูตร ที่ใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นอาหารสัตว์ ช่วยให้หมูเติบโตแข็งแรง และขายได้น้ำหนักดี

เทคนิคเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ

คุณนรงค์ สุรธรรม อยู่บ้านเลขที่ 278 หมู่ที่ 1 บ้านอาฮี ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เริ่มต้นเลี้ยงหมูหลุม แบบโบราณก่อนจะพัฒนาเป็น การเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง คุณนรงค์ เลี้ยงหมูแบบชีวภาพ  โดยนำอาหารวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น กล้วยดิบ มันสำปะหลัง มะละกอ ใบกระถิน มาใช้เลี้ยงหมูแล้ว ยังสามารถใช้เลี้ยงวัวและปลาได้อีกด้วย พบว่า หมูเจริญเติบโตดีมาก 5 เดือน ก็จับขายได้แล้ว ข้อดีของการเลี้ยงหมูแบบชีวภาพก็คือ ลดต้นทุนโดยประหยัดค่าหัวอาหารได้ ประมาณ 70-80% โดยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาการทำความสะอาดคอกบ่อย ๆ คอกหมูไม่มีกลิ่นเหม็น สัตว์ที่เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง จำหน่ายได้ราคาดี และยังได้ปุ๋ยแบบธรรมชาติจากมูลหมูไปใช้ประโยชน์ได้

การเลี้ยงหมูแบบชีวภาพให้ประสบความสำเร็จ จะต้องใช้หมูลูกผสมพันธุ์ดี เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติ มีการจัดการฟาร์มที่ดี มีระบบป้องกันโรคที่ดี โรงเรือนถูกลักษณะ ควรตั้งอยู่ในพื้นที่เนิน น้ำท่วมไม่ถึง มีการระบายน้ำที่ดี อากาศถ่ายเทดี สร้างโรงเรือนตามแนวทิศตะวันออกและตะวันตก มีขนาดความกว้าง 3×3.50 เมตร สามารถเลี้ยงหมูได้ คอกละ 3-5 ตัว ไม่ราดซีเมนต์ แต่ใช้แกลบเทราดพื้นคอกเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นแฉะ แกลบที่ผสมกับขี้หมู สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยคอกได้อีก

อาหารที่เลี้ยงหมูแบบชีวภาพนั้น เน้นใช้วัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มะละกอทั้งดิบทั้งสุก ผักสดต่าง ๆ มันสำปะหลังที่ตากแห้งแล้ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งฝักสดและแห้ง และใช้อาหารเสริมประเภทน้ำหมักชีวภาพ ที่หมักจากพืชชนิดต่าง ๆ ร่วมกับกากน้ำตาล นำมาผสมในอาหารสัตว์ที่นำไปใช้เลี้ยงหมู การนำน้ำหมักชีวภาพมาผสมให้หมูกิน มีจุดเด่นสำคัญคือ เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารที่สัตว์กินเข้าไป ทำให้สัตว์ได้รับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะสัตว์ประเภทสัตว์ปีกและสุกร เป็นสัตว์กระเพาะเดียว ไม่สามารถย่อยพืชต่าง ๆ ได้ดีเท่าสัตว์เคี้ยวเอื้อง การจัดการอาหารสัตว์วิธีนี้ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารได้ถึง 70%

สำหรับการเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ เกษตรกรสามารถเลี้ยงหมูได้ ตั้งแต่ลูกหมูหย่านมเพื่อไม่ให้หมูสับสนในเรื่องการกิน จนเกิดเป็นนิสัยในเรื่องอาหารการกิน หากกินกล้วยดิบก็ให้กล้วยดิบไปตลอด โดยห้อยกล้วยดิบให้หมูกิน ตัวเล็กก็ห้อยต่ำหน่อยพอให้หมูแหงนกินได้สะดวก ไม่ควรวางกับพื้นดิน ถ้าหมูตัวโตขึ้นก็จะขยับสูงขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้น ควรกำหนดจุดให้อาหารแยกกัน เช่น น้ำ อาหาร กล้วย ควรจะอยู่คนละมุม ในบริเวณคอกเลี้ยงสัตว์ ควรโรยพื้นด้วยแกลบและราดด้วยน้ำหมักชีวภาพทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นในคอกเลี้ยงหมู

หากใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารชีวภาพที่นำมาเลี้ยงหมู มันสำปะหลัง ควรหั่นในลักษณะมันเส้น ผ่านการตากแดดให้แห้งสนิทก่อน เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา หรือนำกล้วยดิบ มะละกอมาผสมให้หมูกิน ก่อนนำไปใช้งาน ควรหั่นกล้วยดิบและมะละกอเป็นชิ้นขนาดเล็กแล้วนำไปบดรวมกับมันสำปะหลังที่ตากแห้ง ใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้ว จึงค่อยนำอาหารสัตว์ที่เตรียมไว้ไปให้หมู วัว เป็ด ไก่ และปลา ผลการทดลองใช้อาหารสัตว์แบบชีวภาพ พบว่า หมูเติบโตไวขึ้น เกษตรกรสามารถนำหมูวัย 5 เดือน ออกขายได้แล้ว หมูมีน้ำหนักตัวดี สมบูรณ์แข็งแรง เนื้อหมูมีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการของตลาด หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย โทร. (042) 889-060

สำหรับเคล็ดลับที่สอง เป็นของผู้ใหญ่สงบ หาญกล้า เจ้าของศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แห่งบ้านดอนตะหนิน 18 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองค่าย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา คุณสงบ เลี้ยงหมูหลุม รุ่นละ 10 ตัว ระยะเวลาเลี้ยง 4-5 เดือน/รุ่น การเลี้ยงหมูหลุมลดรายจ่ายประหยัดมากกว่าการเลี้ยงหมูปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียจากการล้างคอก เพราะอาหารที่ใช้เลี้ยงหมู จะเน้นพืชผักผสมกับปลายข้าวต้ม ผสมกับรำ หยวกกล้วย และผักโขม เพราะผักโขมมีธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ เบต้าแคโรทีน แมกนีเซียม และแคลเซียมสูง นำมาปรุงเป็นอาหารสำหรับคนหรือต้มเป็นอาหารเลี้ยงหมูก็มีคุณประโยชน์ไม่แพ้กัน

เคล็ดลับสุดท้ายที่นำมาฝากกัน คือ สูตรอาหารสัตว์จากงานวิจัย ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย คุณพิณซอ กรมรัตนาพร ผศ. เสรี แข็งแอ และ ผศ.สาธิร พรตระกูลพิพัฒน์ ผลงานวิจัยชิ้นนี้ แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูขุนด้วยพืชอาหารหมัก ได้แก่ ข้าวโพดต้นอ่อน ใบมันสำปะหลังที่ผ่านการตากแดด 1 แดด ยอดอ้อย หยวกกล้วย นำพืชเหล่านี้มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ขนาด 0.5 เซนติเมตร นำวัตถุดิบทั้งหมดมาหมักกับกากน้ำตาล เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น นำอาหารสัตว์มาคลุกเคล้ากับรำ ปลายข้าว และหัวอาหารสุกร เมื่อนำอาหารสัตว์สูตรไปใช้เลี้ยงหมูขุนจะช่วยให้หมูขุนเจริญอาหาร เติบโตดี เพราะเป็นอาหารสัตว์ที่มีธาตุโปรตีนถึง 16% หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บ้านทรัพย์ไพศาล ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โทร. (042) 801-096

 

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน

 

Visitors: 186,323